Wednesday, May 20, 2009

เหตุผลที่เลือกอาชีพนี้




เพราะตามที่คุณสมบัติต่างๆ ที่ได้และสวัสดิการของอาชีพนักบิน และอีกเหตุผลหนึ่งคือ มีบุคคลหนึ่งที่ทำให้ผมอยากเจริญรอยตาม คือ กัปตัน สรเดช นามเรืองศรี กัปตันบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บุรุษสายเลือดอุบลฯ แต่เติบโตที่กรุงเทพฯ คือผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตกับอาชีพนักบิน งานที่หลายต่อหลายคนใฝ่ฝันอยากจะเป็น แต่สิ่งที่ได้มามิใช่มีผู้หยิบยื่นให้อย่างง่ายดาย หากแต่มาจากความสามารถและความตั้งใจที่ไม่เคยแผ่ว บวกกับความขยันและรักในการเป็นนักบินด้วยใจจริง เมื่อได้อ่านประวัติของกัปตัน ทำให้ผมมีความคิดที่จะทำฝันให้เป็นจริง ด้วย


ส่วนนี่คือคำพูดของกัปตัน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผม “ด้วยความที่คุณพ่อเป็นทหารอากาศ ผมเห็นคุณพ่อแต่งเครื่องแบบ ผมก็อยากใส่บ้าง ดูมันเท่มาก ตอนเด็กๆ บ้านพักเราอยู่ใกล้สนามบิน ผมก็เห็นเครื่องบินขึ้น-ลงตลอด ตั้งแต่นั้นผมก็ฝันอยากจะเป็นนักบิน ตอนนั้นผมตั้งใจมาก ผมเริ่มจากเข้าสาธิตจุฬาฯ ตั้งแต่ ป.1 – มศ.3 ตอนนั้นผมตัวเล็กๆ คิดในใจว่าเราจะไปไหวไหม เพราะเป็นคนขี้โรคด้วย แต่ก็ตั้งใจว่าจะพยายาม พอจบ มศ. 3 ผมลองไปสอบเข้าเตรียมทหาร และเตรียมอุดม ปรากฏว่าได้ทั้ง 2 ที่ แต่ผมไม่ไปเตรียมอุดม รอสอบต่อรอบสองเตรียมทหารปรากฏว่าผ่านหมด ก็เลยได้เป็นนักเรียนเตรียมทหาร พอเข้ามาเขาก็ให้เลือกเหล่า ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศหรือตำรวจ ผมเห็นเครื่องบินตั้งแต่เด็ก ก็เลยเลือกทหารอากาศ กะว่าซักวันจะต้องเป็นนักบินขับไล่ให้ได้ ตอนนั้นมันฮึกเหิมและมันเท่ เราก็เลยเรียนเตรียมทหาร 2 ปีและแยกเหล่ามาเรียนนายเรืออากาศอีก 5 ปี แต่อีกใจก็อยากเป็นวิศวกรโยธา พอดีเขาเปิดสาขาวิศวกรรมโยธารุ่นแรกของโรงเรียนนายเรืออากาศ ผมก็เลยเรียนจนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา แล้วเข้าเป็นศิษย์การบินของกองทัพอากาศที่โรงเรียนการบินกำแพงแสน โดยกองทัพอากาศเป็นผู้ออกทุนให้จนสำเร็จการศึกษาเป็นนักบินของกองทัพ
“คุณสมบัติของนักเรียนทุนก็คือต้องเรียนเก่ง เพราะต้องสอบแข่งกัน ผู้ที่จะเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารสมัยนั้นจำได้ว่า 10,000 กว่าคนเอา 500 คน แต่เดี๋ยวนี้การแข่งขันน่าจะสูงขึ้น ผมเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 19 และเลือกเรียนต่อที่โรงเรียนนายเรืออากาศ เพราะอยากเป็นนักบิน พอจบปุ๊บก็ติดยศเรืออากาศตรี เงินเดือนสมัยนั้น 2,750 บาท และก็ไปเรียนที่โรงเรียนการบินกองทัพอากาศอีก 1 ปี ฟรีทั้งหมด ตอนเรียนก็แบ่งเป็นสายไอพ่นกับสายใบพัด สายไอพ่นเขาจะเอาคนที่บินดีและคะแนนดี ผมก็เลยเลือกสายไอพ่น เมื่อสำเร็จการศึกษาก็บรรจุเป็นนักบินประจำกองสังกัดกองบิน1 นครราชสีมา เริ่มต้นบินจากเครื่องบินไอพ่นฝึกหัดแบบ T33 จากนั้นเป็นนักบินขับไล่เต็มตัว ทำการบินกับเครื่องบินแบบ F-5 A/B, F-5 E/F จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้มาบินแบบ F-16 A/B ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศ ”

อาชีพที่ใฝ่ฝันในอนาคต


นิยามอาชีพ

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้แก่ผู้ขับเครื่องบิน ผู้ควบคุมการบิน ในระหว่างทำการบินรวมถึงการขับเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ไปรษณีย์ภัณฑ์หรือสินค้า การขับเครื่องบินเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่นทดสอบ ส่งมอบ ฉีดยาฆ่าแมลงหรือยาป้องกันแมลง สำรวจทางอากาศ ถ่ายภาพทางอากาศ และสอนนักบินฝึกหัดการควบคุมเส้นทางบินของการบิน การดูแลเครื่องบินระหว่างทำการบิน และให้คำแนะนำ นักบินอื่นๆ เกี่ยวกับการบินและเส้นทางการบิน

ลักษณะของงานที่ทำ
1. ขับเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ไปรษณียภัณฑ์ หรือสินค้า
2. ควบคุมอากาศยานให้อยู่ในเส้นทาง ซึ่งทำการบินประจำ หรือในเที่ยวบินเช่าเหมา 3. สังเกตเครื่องวัดมิเตอร์ และเครื่องวัดประกอบการบินอื่นๆ ที่ใช้ควบคุมอากาศยาน 4. ตรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ ใช้เครื่องช่วยในการเดินอากาศสำหรับควบคุมเส้นทางบินของอากาศยาน 5. อาจเป็นผู้ควบคุมอากาศยาน และรับผิดชอบในลูกเรือทั้งหมด หรือเป็นนักบินผู้ช่วย และอาจทำการบินภายใต้การควบคุมของผู้ควบคุมอากาศยาน

สภาพการทำงาน
นักบินจะใช้เวลาการทำงานตามกฎหมายแรงงานและกฎของสถาบันอากาศยานโลก นักบินจำเป็นต้องทำงานในอากาศบนที่สูง แต่เดิมเครื่องบินได้ออกแบบโดยให้เครื่องยนต์บังคับการบิน ทำให้อาชีพนักบินเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่ออันตรายอาชีพหนึ่ง ในปัจจุบันได้ออกแบบเครื่องบินให้ทุกอย่างควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และมีระบบควบคุมการบินที่ปลอดภัย ทำให้อัตราการเสี่ยงในปัญหาเครื่องยนต์ลดลง ในการเดินทางนักบินจะทราบตารางการเดินทางล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน นักบินต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารในระหว่างทำการบินอัตราการเสี่ยงจะสูงมากเมื่ออยู่ระหว่างการบิน หรือการบินขึ้นและลงในสภาพอากาศที่ไม่ปกติ รวมทั้งการที่ต้องขับเครื่องบินในเส้นทางระยะยาวใช้เวลานาน อาจจะทำให้ นักบินมีความเครียดและความเมื่อยล้าจากการบินได้ ในระหว่างการบินระยะยาว นักบินมีโอกาสพักผ่อนเป็นครั้งคราว เนื่องจากมีผู้ช่วยนักบินปฏิบัติงานร่วมด้วยอย่างน้อย 1 คน

โอกาสในการมีงานทำ
อาชีพนักบินสามารถรับราชการเป็นนักบินของหน่วยราชการต่างๆ เช่น กองบินสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร หรือสายการบินเอกชนต่างๆ เช่น บริษัทการบินไทย บริษัทบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งยังมีความต้องการพนักงานในตำแหน่งนี้ยังมีมากแต่การคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสม รวมทั้งการสอน และอบรมในการบินสามารถรับได้ครั้งไม่มากจึงจัดว่าเป็นอาชีพที่ขาดแคลน สถาบันที่จะฝึกนักบินในประเทศไทยนั้นมีจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่จะฝึกให้หน่วยงานราชการ เพื่อใช้ในหน่วยงานของตนเอง แต่ถ้าหน่วยงานใดองค์การใดที่ต้องการนักบิน และไม่สามารถที่จะฝึกอบรมด้วยตนเองได้ก็จะส่งบุคคลในหน่วยงานของตนนั้นมาทำการฝึกที่สถาบันการบินพลเรือนในประเทศไทย ฉะนั้นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว ส่วนใหญ่จึงกลับเข้าทำงานในหน่วยงานเดิมของตนที่ส่งมาฝึกอบรม แต่ถ้าเป็นนักศึกษาที่เรียนโดยทุนส่วนตัว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็จะทำงานเป็นนักบินในบริษัทสายการบินต่างๆ ซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงมากผู้ที่ประกอบอาชีพนักบินมักจะเป็นชาย ในปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินอาชีพที่เป็น ผู้หญิงทำงานในบริษัท บางกอกแอร์เวย์ และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย แต่สำหรับบริษัทการบินไทย ยังไม่มีนักบินอาชีพที่เป็นผู้หญิง ผู้ที่ประกอบอาชีพนักบินสามารถเข้าสมัครงานในภาคราชการหรือภาคเอกชนที่ประกาศรับสมัครโดยต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ และเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการอบรมการบินจากสถาบันฝึกการบินพลเรือนโดยเมื่อจบการอบรมก็จะได้รับบรรจุเข้าเป็นนักบินประจำหน่วยงานนั้น ยกเว้นนักบินของกองทัพอากาศ ซึ่งจะต้องเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศและสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนการบินของกองทัพอากาศซึ่งจะมีหลักสูตรการบินที่เกี่ยวกับการทหารไม่ใช่การบินเชิงพาณิชย์สำหรับนักบินทั่วไป เมื่อจบหลักสูตรจึงจะได้บรรจุเป็นทหารสัญญาบัตรเหล่านักบิน และได้รับการบรรจุเข้าประจำฝูงบินต่างๆ หรือบรรจุเข้ารับราชการตามกรมกองต่างๆ

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
เป้าหมายสูงสุดในอาชีพนักบิน คือ โอกาสความก้าวหน้าในตำแหน่งกัปตันซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดและจะมักเป็นที่ต้องการของสายการบินอื่นๆ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการบินมามาก อาชีพนักบินจะเริ่มต้นการทำงานเป็นนักบินที่ 3หรือต้นหน System Operator (สำหรับเครื่องบินขนาดเล็ก 737 / 747 ซึ่งปัจจุบันเครื่องบินรุ่นใหม่ไม่ใช้นักบินที่ 3 หรือต้นหน) และใช้เวลาปฏิบัติงานประมาณ 4 ปีจึงจะได้เป็นนักบินที่ 2 หรือ Co-pilot และนักบินที่ 2 ต้องมีความชำนาญประมาณ 8 ปี จึงเป็นกัปตันหรือนักบินที่ 1 ได้ ทั้งนี้ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง และผ่านการตรวจร่างกาย และทดสอบทางจิตเวชทุกปี และสำหรับนักบินที่มีประสบการณ์ และได้รับการอบรมจนเชี่ยวชาญ และมีความสามารถในการสอน ก็สามารถเป็นผู้สอนนักบินฝึกหัด หรือนักบินที่มีความสามารถในการบริหารงานสามารถที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บริหารในหน่วยงานหรือองค์กรนั้นได้ ผู้ประกอบอาชีพ "นักบิน" จะมีโอกาสก้าวหน้าอย่างยิ่งในด้านเงินเดือนที่ได้รับเพิ่ม โดยเฉพาะความสามารถ และความชำนาญในการบินจะเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของนักบินนั้นๆ ผู้เป็นนักบินในหน่วยงานของทางราชการ หรือองค์การต่างๆ นอกจากจะได้รับเงินเดือนตามปกติแล้วยังได้รับเงินพิเศษจากการบินด้วย ในด้านการศึกษา อาจไปศึกษาและฝึกอบรมเพิ่มเติมในต่างประเทศได้ เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้น เช่นการบินกับเครื่องบินหลายเครื่องยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้นักบินยังมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และนับว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติอาชีพหนึ่งของสังคม