Wednesday, May 20, 2009

อาชีพที่ใฝ่ฝันในอนาคต


นิยามอาชีพ

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้แก่ผู้ขับเครื่องบิน ผู้ควบคุมการบิน ในระหว่างทำการบินรวมถึงการขับเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ไปรษณีย์ภัณฑ์หรือสินค้า การขับเครื่องบินเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่นทดสอบ ส่งมอบ ฉีดยาฆ่าแมลงหรือยาป้องกันแมลง สำรวจทางอากาศ ถ่ายภาพทางอากาศ และสอนนักบินฝึกหัดการควบคุมเส้นทางบินของการบิน การดูแลเครื่องบินระหว่างทำการบิน และให้คำแนะนำ นักบินอื่นๆ เกี่ยวกับการบินและเส้นทางการบิน

ลักษณะของงานที่ทำ
1. ขับเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ไปรษณียภัณฑ์ หรือสินค้า
2. ควบคุมอากาศยานให้อยู่ในเส้นทาง ซึ่งทำการบินประจำ หรือในเที่ยวบินเช่าเหมา 3. สังเกตเครื่องวัดมิเตอร์ และเครื่องวัดประกอบการบินอื่นๆ ที่ใช้ควบคุมอากาศยาน 4. ตรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ ใช้เครื่องช่วยในการเดินอากาศสำหรับควบคุมเส้นทางบินของอากาศยาน 5. อาจเป็นผู้ควบคุมอากาศยาน และรับผิดชอบในลูกเรือทั้งหมด หรือเป็นนักบินผู้ช่วย และอาจทำการบินภายใต้การควบคุมของผู้ควบคุมอากาศยาน

สภาพการทำงาน
นักบินจะใช้เวลาการทำงานตามกฎหมายแรงงานและกฎของสถาบันอากาศยานโลก นักบินจำเป็นต้องทำงานในอากาศบนที่สูง แต่เดิมเครื่องบินได้ออกแบบโดยให้เครื่องยนต์บังคับการบิน ทำให้อาชีพนักบินเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่ออันตรายอาชีพหนึ่ง ในปัจจุบันได้ออกแบบเครื่องบินให้ทุกอย่างควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และมีระบบควบคุมการบินที่ปลอดภัย ทำให้อัตราการเสี่ยงในปัญหาเครื่องยนต์ลดลง ในการเดินทางนักบินจะทราบตารางการเดินทางล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน นักบินต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารในระหว่างทำการบินอัตราการเสี่ยงจะสูงมากเมื่ออยู่ระหว่างการบิน หรือการบินขึ้นและลงในสภาพอากาศที่ไม่ปกติ รวมทั้งการที่ต้องขับเครื่องบินในเส้นทางระยะยาวใช้เวลานาน อาจจะทำให้ นักบินมีความเครียดและความเมื่อยล้าจากการบินได้ ในระหว่างการบินระยะยาว นักบินมีโอกาสพักผ่อนเป็นครั้งคราว เนื่องจากมีผู้ช่วยนักบินปฏิบัติงานร่วมด้วยอย่างน้อย 1 คน

โอกาสในการมีงานทำ
อาชีพนักบินสามารถรับราชการเป็นนักบินของหน่วยราชการต่างๆ เช่น กองบินสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร หรือสายการบินเอกชนต่างๆ เช่น บริษัทการบินไทย บริษัทบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งยังมีความต้องการพนักงานในตำแหน่งนี้ยังมีมากแต่การคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสม รวมทั้งการสอน และอบรมในการบินสามารถรับได้ครั้งไม่มากจึงจัดว่าเป็นอาชีพที่ขาดแคลน สถาบันที่จะฝึกนักบินในประเทศไทยนั้นมีจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่จะฝึกให้หน่วยงานราชการ เพื่อใช้ในหน่วยงานของตนเอง แต่ถ้าหน่วยงานใดองค์การใดที่ต้องการนักบิน และไม่สามารถที่จะฝึกอบรมด้วยตนเองได้ก็จะส่งบุคคลในหน่วยงานของตนนั้นมาทำการฝึกที่สถาบันการบินพลเรือนในประเทศไทย ฉะนั้นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว ส่วนใหญ่จึงกลับเข้าทำงานในหน่วยงานเดิมของตนที่ส่งมาฝึกอบรม แต่ถ้าเป็นนักศึกษาที่เรียนโดยทุนส่วนตัว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็จะทำงานเป็นนักบินในบริษัทสายการบินต่างๆ ซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงมากผู้ที่ประกอบอาชีพนักบินมักจะเป็นชาย ในปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินอาชีพที่เป็น ผู้หญิงทำงานในบริษัท บางกอกแอร์เวย์ และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย แต่สำหรับบริษัทการบินไทย ยังไม่มีนักบินอาชีพที่เป็นผู้หญิง ผู้ที่ประกอบอาชีพนักบินสามารถเข้าสมัครงานในภาคราชการหรือภาคเอกชนที่ประกาศรับสมัครโดยต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ และเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการอบรมการบินจากสถาบันฝึกการบินพลเรือนโดยเมื่อจบการอบรมก็จะได้รับบรรจุเข้าเป็นนักบินประจำหน่วยงานนั้น ยกเว้นนักบินของกองทัพอากาศ ซึ่งจะต้องเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศและสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนการบินของกองทัพอากาศซึ่งจะมีหลักสูตรการบินที่เกี่ยวกับการทหารไม่ใช่การบินเชิงพาณิชย์สำหรับนักบินทั่วไป เมื่อจบหลักสูตรจึงจะได้บรรจุเป็นทหารสัญญาบัตรเหล่านักบิน และได้รับการบรรจุเข้าประจำฝูงบินต่างๆ หรือบรรจุเข้ารับราชการตามกรมกองต่างๆ

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
เป้าหมายสูงสุดในอาชีพนักบิน คือ โอกาสความก้าวหน้าในตำแหน่งกัปตันซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดและจะมักเป็นที่ต้องการของสายการบินอื่นๆ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการบินมามาก อาชีพนักบินจะเริ่มต้นการทำงานเป็นนักบินที่ 3หรือต้นหน System Operator (สำหรับเครื่องบินขนาดเล็ก 737 / 747 ซึ่งปัจจุบันเครื่องบินรุ่นใหม่ไม่ใช้นักบินที่ 3 หรือต้นหน) และใช้เวลาปฏิบัติงานประมาณ 4 ปีจึงจะได้เป็นนักบินที่ 2 หรือ Co-pilot และนักบินที่ 2 ต้องมีความชำนาญประมาณ 8 ปี จึงเป็นกัปตันหรือนักบินที่ 1 ได้ ทั้งนี้ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง และผ่านการตรวจร่างกาย และทดสอบทางจิตเวชทุกปี และสำหรับนักบินที่มีประสบการณ์ และได้รับการอบรมจนเชี่ยวชาญ และมีความสามารถในการสอน ก็สามารถเป็นผู้สอนนักบินฝึกหัด หรือนักบินที่มีความสามารถในการบริหารงานสามารถที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บริหารในหน่วยงานหรือองค์กรนั้นได้ ผู้ประกอบอาชีพ "นักบิน" จะมีโอกาสก้าวหน้าอย่างยิ่งในด้านเงินเดือนที่ได้รับเพิ่ม โดยเฉพาะความสามารถ และความชำนาญในการบินจะเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของนักบินนั้นๆ ผู้เป็นนักบินในหน่วยงานของทางราชการ หรือองค์การต่างๆ นอกจากจะได้รับเงินเดือนตามปกติแล้วยังได้รับเงินพิเศษจากการบินด้วย ในด้านการศึกษา อาจไปศึกษาและฝึกอบรมเพิ่มเติมในต่างประเทศได้ เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้น เช่นการบินกับเครื่องบินหลายเครื่องยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้นักบินยังมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และนับว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติอาชีพหนึ่งของสังคม

No comments:

Post a Comment